บล.ทรีนีตี้ ประเมินความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อเป็นผลบวกทางอ้อมต่อตลาดหุ้นไทยที่จะเห็น Fund flow หรือเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าเพื่อหลบภัยในระยะสั้น ชี้ 4 ปัจจัยสำคัญกำหนดทิศทางตลาดหุ้นเดือน มี.ค. แนะกลุ่มการแพทย์ และกลุ่มบริหารหนี้ สอดคล้องก้บ บล.เคจีไอ มองกระแสเงินทุนไหลเข้าแข็งแกร่งและหนุนดัชนี SET แกว่งตัวในเดือนมีนาคม และผันผวนอย่างหนัก ผลกระทบจากความขัดแย้งและการตัดสินใจของ FOMC หุ้นที่น่าสนใจเน้นกลุ่ม domestic plays และหุ้น cyclical ซื้อสะสมในภาวะที่ราคาหุ้นในระยะสั้น ขณะ “ทิสโก้” เชื่อปัจจัยรอบด้านอึมครึม หุ้นไทยยังดีกว่าหุ้นโลกต่อเนื่องในเดือนนี้

เหตุความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลและช่วงนั้นถือว่ามีผลต่อตลาดหุ้นไทยมาก ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยดิ่งเหว ขณะที่ราคาทองคำและน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยกระดับการควบคุมโควิด-19 เป็นระดับที่ 4 โดยเสนอให้ชะลอการเข้าสถานที่เสี่ยง และกลับมาใช้มาตรการทำงานที่บ้าน หรือ work from home 50-80% อีกครั้ง

และเมื่อ 1 มีนาคม ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังจาก 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยผันผวนระหว่างการซื้อขาย แต่สามารถไปยืนปิดตลาดบวกได้ เพราะรับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาดทุนไทยแบบแข็งแกร่ง และหักล้างปัจจัยลบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียได้ ซึ่งปัจจัยที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นขึ้นมาเล็กน้อยคือ การเจรจารอบแรกระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว ซึ่งเป็นผลบวกต่อตลาดหากทั้งสองฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยงการทำสงครามระหว่างกัน นั่นจึงทำให้ภาวะตลาดหุ้นสดใสขึ้นมาได้บ้าง

หุ้น มี.ค.ผันผวน กระแสเงินทุนไหลเข้า

“บล.เคจีไอ (ประเทศไทย)” พอร์ตหุ้นแนะนำมีนาคม 2565 ยังคงเน้นหุ้นเชื่อมโยงฟันด์โฟลว์ ส่วนพอร์ตหุ้นเดือนกุมภาพันธ์ขยับขึ้นมา 5.2% และ outperform ตลาดหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ตลาดหุ้นไทยในโหมด sideways up และขยับขึ้นได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยช่วง 3 สัปดห์แรก ดัชนี SET วิ่งแรงจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ขณะที่ยังคงมีการกลับมาเปิดเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกันตลาดกลับมาอยู่ในโหมด risk-off ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนจากการปะทะกันระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันขยับเพิ่ม ทำให้หลายประเทศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์นักลงทุนต่างชาติช้อนซื้อหุ้นไทยสุทธิ 6.30 หมื่นล้านบาท และเป็นกลุ่ม โดยหุ้น domestic หลักๆ ในกลุ่ม commerce และธนาคารขยับขึ้นได้ในเดือนที่แล้ว โดยหุ้นในพอร์ตของ บล.เคจีไอ ขยับขึ้นมากสุดคือ CRC, KBANK และ CPALL ขณะที่ AOT ขึ้นเพียง 0.4% ซึ่งถือเป็นหุ้นที่อ่อนแอที่สุดในพอร์ตหุ้นเดือนกุมภาพันธ์ โดย AOT ถูกกดดันจากยอดผู้ติดเชื้อในประเทศที่เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน

ขณะที่มุมมองเดือนมีนาคมยังคงผันผวนอย่างหนัก แต่กระแสเงินทุนไหลเข้าจะแข็งแกร่งและหนุนดัชนี SET จะแกว่งตัวในเดือนมีนาคม และจะผันผวนอย่างหนักจากการที่นักลงทุนประเมินสถานการณ์ใหญ่อย่างวิฤตรัสเซีย-ยูเครน และการตัดสินใจของ FOMC อย่างไรก็ตาม มองว่าตลาดการเงินคาดหวังผลลบจากกรณีดังกล่าวไปมากแล้ว ดังนั้น risk-reward ของการลงทุนในหุ้นน่าเข้าลงทุนโดยนักลงทุนตอบรับการที่ Putin เตรียมกองกำลังนิวเคลียร์และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไปแล้ว

ส่วนในกรณีของ Fed ตลาดได้สะท้อนความคาดหมายว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 6 คร้ังในปีนี้รวม 150bps ไปแล้ว และท้ายที่สุดตลาดหุ้น ASEAN และตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะเป็น sweet spot ที่น่าเข้าลงทุนในขณะนี้ เพราะมีฐานการบริโภคที่ใหญ่ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์รัสเซียยูเครน และ GDP มีแนวโนมจะเร่งตัวขึ้นในปีนี้ ดังนั้น จึงคาดว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง

ธีมหุ้นเดือนมีนาคม เน้นหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม domestic plays และหุ้น cyclical บางตัวเนื่องจากมองวาตลาดหุ้นในเดือนนี้จะผันผวน แต่กระแสเงินทุนไหลเข้าจะยังเป็นบวก จึงแนะนำให้ซื้อสะสมในภาวะที่ราคาหุ้นในระยะสั้น เพราะเศรษฐกิจไทยกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า

โดยมีการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัว จึงชอบหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มการบริโภคและท่องเที่ยว ยังชอบหุ้นธนาคารใหญ่ ซึ่งจะได้อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป รวมถึงหุ้น cyclical บางตัวด้วย เลือก AOT, CPALL, LH, HMPRO, MAKRO, PTT, BBL และ KBANK เป็นหุ้นเด่นสำหรับพอร์ตหุ้นเดือนมีนาคม

สงครามหนุน Fund flow เข้าหุ้นไทย

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ประเมินภาพ SET Index เดือนมีนาคมเคลื่อนไหวไปตามพัฒนาการของ 4 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย Geopolitical risk ระหว่างรัสเซียและยูเครน แนวนโยบายการเงินของ Fed ทิศทางของเศรษฐกิจไทย และความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถูกถอดออกจากดัชนี MSCI EM มองกรอบแนวต้านของดัชนีในเดือนนี้ที่ระดับ 1,700 จุด และ 1,740 จุด ซึ่งระดับ 1,740 จุดนี้ถือเป็นระดับที่ยืดสุดแล้วตามวิธีคำนวณด้วยโมเดล Earning yield gap ในขณะเดียวกัน มองกรอบแนวรับที่น่าสนใจของดัชนีสำหรับการเพิ่มน้ำหนักที่ระดับ 1,635 จุด และ 1,600 จุดตามลำดับ

ณัฐชาต กล่าวว่า สำหรับกลุ่มหุ้นแนะนำประจำเดือนนี้ยังคงเน้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนไปยังกลุ่ม Defensive ที่มี Alpha เฉพาะตัว เหมาะกับการเลือก Selective ในช่วงเวลาที่ Valuation ของดัชนีอยู่ในโซนสูง และยังมีความไม่แน่นอนของปัจจัยรอบด้านอยู่ คือกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) และกลุ่มบริหารหนี้ (AMC) ซึ่งในส่วนของกลุ่ม Healthcare นั้น เลือก BDMS, BCH, CHG, IMH และกลุ่ม AMC เลือก BAM, JMT, CHAYO

สำหรับ 4 ปัจจัยใหญ่ที่จะมีอิทธิพลต่อ SET Index ในเดือนนี้คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ระหว่างรัสเซียและยูเครน ประเมินตราบใดที่ปัจจัยดังกล่าวยังยืดเยื้อและลากยาวออกไปจะเป็นผลบวกทางอ้อมต่อตลาดหุ้นไทยที่จะเห็น Fund flow หรือเงินทุนต่างชาติไหลเข้าเพื่อหลบภัยในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันได้ คาดว่าจะเห็น Fund flow ไหลย้อนกลับไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอย่างมากก่อนหน้านี้ เช่น ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น

อีกปัจจัยคือ แนวนโยบายการเงินของ Fed โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ หากในที่ประชุมดังกล่าว Fed มีมติขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% คาดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกในระยะสั้นได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่ในราคาไปหมดแล้ว แต่หาก Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% เพื่อยับยั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประเมินจะเป็น Negative surprise ต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น ผ่านการปรับสูงขึ้นของ Bond yield แบบฉับพลัน เนื่องจาก ณ ขณะนี้ตลาด Price in ปัจจัยดังกล่าวไปเพียงแค่ 7% เท่านั้น อย่างไรก็ดี มองประเด็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จะมีผลต่อตลาดหุ้นในลักษณะ “เจ็บแล้วจบ” ซึ่งจะถือเป็นเรื่องดีต่อภาพตลาดหุ้นในระยะกลางได้ และ พัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่วนหนึ่งอิงอยู่กับสถานการณ์โควิดในประเทศที่ล่าสุดยังคงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับสูง มองประเด็นดังกล่าวเมื่อมาประกอบกับแรงส่งของนโยบายภาครัฐที่ลดลง และระดับราคาสินค้าโดยรวมที่อยู่สูง จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนทยอยลดลงได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีนักต่อกลุ่ม Domestic consumption โดยรวม สอดคล้องกับดัชนี Mobility ปัจจุบันที่บ่งชี้ว่าคนเริ่มออกมาดำเนินชีวิตและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านในระดับต่ำอีกครั้ง รวมถึง รายงานของ ธปท.ล่าสุด ที่เริ่มบ่งชี้ถึงสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว มองปัจจัยนี้จะมีผลโดยตรงต่อ EPS ของ SET ในช่วงถัดไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร และกลุ่ม Consumer discretionary ต่างๆ และมีโอกาสกระทบกับระดับเป้าหมายของ SET ในท้ายที่สุด

สุดท้ายคือ ความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนี MSCI Emerging Market (MSCI EM) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะทำให้เห็นเม็ดเงิน Fund flow ไหลเข้าสู่ประเทศ EM อื่นๆ ได้ ซึ่งไทยเราถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยจากการคำนวณของทรีนีตี้ล่าสุด พบว่า หากเกิดกรณีดังกล่าว น้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI EM นี้จะขยับสูงขึ้นจาก 1.85% สู่ระดับ 1.89% คิดเป็นเม็ดเงินไหลเข้าราว 140 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,600 ล้านบาท หากอิงกับเม็ดเงินลงทุนที่อิงอยู่กับดัชนี MSCI EM ราว 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

สงครามผลักทิศทางหุ้นไทย “Outperform” กว่าหุ้น โลก

“บล.ทิสโก้” มอง 3 ปัจจัยสำคัญที่ยังมีอิทธิพลกดดันบรรยากาศการลงทุนในเดือน มี.ค. นี้คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยูเครนรัสเซีย แรงกดดันเเงินเฟ้อที่ยังพุ่งสูงขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งทำสถิติใหม่แบบรายวัน ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในกรณีฐาน เชื่อว่าสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียยังคงอึมครึมต่อไปอีกเป็นเดือน คาด SET Index จะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ1,660-1,700 โดยจะผันแปรไปตามกระแสข่าวของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย แต่ในที่สุดเชื่อว่าจะหาทางออกได้ร่วมกัน ไม่ลุกลามจนกลายเป็นสงครามข้ามชาติของประเทศมหาอำนาจเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะมีทิศทาง “Outperform” หรือผลงานกว่าหุ้นโลก เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตึงเครียดยูเครนรัสเซีย (1) รัสเซียมีมูลค่าการค้า (ทั้งการส่งออกและนำเข้า) ในปีที่แล้วคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.52% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทยในปี 2019 (เพื่อลดการบิดเบือนของตัวเลขจากผลกระทบการระบาดโควิด-19) และ (2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตอบสนองด้วยการปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 7 ปีจากความกังวลดังกล่าว ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงานและหุ้นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยมีน้ำหนักในหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ช่วยพยุงตลาดไม่ปรับตัวลงมา

ด้านตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ของเดือน ก.พ. ที่จะเปิดเผยในวันที่ 10 มี.ค.นี้ คาดว่าจะยังขยายตัวสูงกว่าระดับ 7% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องเร่งถอนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในไม่ช้า โดยตลาดขณะนี้ (สะท้อนผ่าน Fed Funds Futures) คาดว่า FED จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก 25 bps ในการประชุมเดือน มี.ค. และจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 5 ครั้งๆ ละ 25 bps ในการประชุม FED ที่เหลือของปีนี้ ถึงแม้ชื่อว่าตลาดได้ซึมซับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ไปมากพอสมควรแล้ว (สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ10 ปีที่ปรับตวัขึ้นมาใกล้เคียงระดบั 2%) แต่ความกังวลเงินเฟ้อที่ยังพุ่งขึ้นอยู่ ท่ามกลางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น คาดจะสร้างความผันผวนแก่ตลาดเป็นระยะตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูง และ Upside ตลาดเริ่มจำกัด โดยเฉพาะหากปรับขึ้นทะลุเกินกว่าระดับ 1,700 จุด จึงแนะนำกลยุทธ์เลือกหุ้นลงทุนเป็นรายตัว (Selective Buy) โดยหุ้นที่คาดว่าจะ Outperform ตลาด คือ (1) หุ้นงบไตรมาส 4 ปี 64 ออกมาดีมีโอกาสปรับประมาณกำไรขึ้น เด่น BDMS, BEC, MAKRO และหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดีราคายังขึ้นช้า (Big cap, Value, Laggard) – EGCO, INTUCH, SCB, SCC เพราะฉะนั้นหุ้นเด่นที่แนะนำในเดือน มี.ค. คือ BDMS, BEC, EGCO, INTUCH, MAKRO, SCB และ SCC ด้านแนวรับ และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,655-60, 1,620-30 และ 1,700, 1,720, 1,750 จุด ตามลำดับ ขณะที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ยังเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังพุ่งสูงขึ้น ความกังวลเงินเฟ้อที่ยังพุ่งขึ้นอยู่ท่ามกลางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้น คาดจะสร้างความผันผวนแก่ตลาดเป็นระยะตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

วิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” ดันลงทุนทองพุ่ง

รวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายทองคำผ่านแพลตฟอร์ม “Krungthai Gold Wallet” มีมูลค่าสูงสุดนับจากการเปิดให้บริการซื้อขายทองคำออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดย นักลงทุนส่วนใหญ่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าทำการซื้อขายทองคำและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์และสกุลเงินที่ปลอดภัย หลังจากมีรายงานว่ารัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้หลายประเทศทั่วโลกดำเนินการคว่ำบาตรต่อประเทศรัสเซีย ส่งผลต่อราคาทองคำแกว่งตัวผันผวนระหว่างวันกว่า 90 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และปรับขึ้นสูงสุดของสัปดาห์อยู่ที่ 1,976.50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาแตะที่ระดับ 32.885 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มจะปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะวิกฤตระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้นักลงทุนติดตามสถานการณ์ราคาทองคำและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพื่อหาโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 65 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ 1,694.28 จุด เพิ่มขึ้น 9.10 จุด หรือ 0.54% เคลื่อนไหวในกรอบ 1,701.69-1,690.82 จุด มูลค่าซื้อขาย 91,815.23 ล้านบาท แบ่งการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนคือสถาบันขายสุทธิ 3.01 ล้านบาท บัญชี บล.ขายสุทธิ 113.38 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 4,022.22 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศขายสุทธิ 3,905.83 ล้านบาท

อ้างอิง
https://mgronline.com/stockmarket