จากปัญหาราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่มาจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต การขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งส่งผลทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น เป็นภาระซ้ำเติมให้กับประชาชนที่ต้องหาเช้า กินค่ำ
ซึ่งแม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปประคับประคองให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในช่วงที่เกิดวิกฤตินี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้
แต่ดูเหมือนว่าการกระทำของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จะยังไม่สามารถประคับประคองได้มากนัก ยังคงเห็นประชาชนเดือดร้อนกันทั่วหน้า!!!
โดยเฉพะในเรื่องของพลังงานที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ที่มีแต่จะปรับราคาสูงขึ้น!!!
จนล่าสุดในประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐ ลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 ช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 65 ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนในการประหยัดพลังงาน อาทิ จัดตั้งคณะทำงานลดใช้พลังงานโดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน และจัดทำแผนปฏิบัติการลดการใช้พลังงาน เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้มีความชัดเจน พัฒนามาตรการลดใช้พลังงานให้เข้มข้นขึ้นหรือยืดหยุ่นตามความเหมาะสม ,มาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที ด้านไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เช่น กำหนดเวลาเปิด-ปิด เวลา 08.30 น. – 16.30 น. ตั้งอุณหภูมิ 25 -26 องศาฯ ล้างแอร์ทุก 6 เดือน ใช้หลอดไฟ LED อุปกรณ์สำหรับงาน ให้ตั้งโปรแกรมปิดหน้าจออัตโนมัติ เมื่อไม่ใช้งานลิฟต์ อาจให้หยุดเฉพาะชั้นคู่-คี่ รณรงค์การใช้บันได
ส่วนด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทางและจำนวนผู้เดินทาง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ตรวจเช็กรถยนต์ตามระยะเวลาที่กำหนด และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดส่งเอกสารทางอีเมล
สำหรับมาตรการระยะยาวให้อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม ก่อนปีงบประมาณ 65 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงาน ภายในปีงบประมาณ 66 เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่การจัดการอาคารของเอกชน ที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม เป็นต้น
ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 120 ล้านหน่วย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 1, 020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 67,075 ตัน ส่วนของการกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 872.25 ล้านบาท และการดำเนินงานตามมาตรการ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐ คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท
ขณะที่ภาคประชาชนได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน เพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้ว และยังใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจน ถึงเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้าง และผู้ขับแท็กซี่
โดยแนวทางในการ “เยียวยาวินมอเตอร์ไซค์” ดังนี้ ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม ส่วนการ “เยียวยาแท็กซี่” ครม.มีมติเห็นชอบให้ลดภาระด้านเชื้อเพลิง ดังนี้ ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
นอกจากนี้ประชาชนที่มีรายได้น้อยและผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีความเดือดร้อนมากที่สุด จะมีมาตรการต่างๆออกมาดูแลเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจน ถึงเดือนกรกฎาคม อาทิ เพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน ,ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน ,.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ,ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ,ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป เป็นต้น
มาตรการในการดูแลประชาชนของรัฐบาล ณ เวลานี้ แม้จะดูเหมือนการแทงกั๊ก! ไม่จัดหนัก จัดเต็ม เหมือนที่ผ่านมา! แต่ก็อย่าลืมนะครับ….อะไรที่ทำให้กับประชาชน ประชาชนจำได้ไม่มีลืม!!!
อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy